การดำเนินการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงและโอกาส ใน ISO14001 2015
เจตนาโดยรวมของกระบวนการที่ระบุไว้ในข้อ 6.1.1 คือเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบที่ไม่ตั้งใจไว้ และเพื่อให้มีการปรับปรุงเป็นประจำ องค์กรสามารถสร้างความมั่นใจได้โดยการกำหนดความเสี่ยงและโอกาสที่จำเป็นต้องจัดการและการดำเนินการวางแผนเพื่อจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ความเสี่ยงและโอกาสเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม พันธกิจที่ต้องปฏิบัติตาม ประเด็นอื่นๆ หรือความจำเป็นและความคาดหวังอื่นๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (ข้อ 6.1.2) สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางบวก และผลกระทบอื่นๆ ที่มีต่อองค์กร ความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถพิจารณากำหนดให้ส่วนหนึ่งของการประเมินผลหรือพิจารณาแยกกัน
พันธกิจที่ต้องปฏิบัติตาม (ข้อ 6.1.3) สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงและโอกาส เช่น ความล้มเหลวในการปฏิบัติตาม (ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงขององค์กรหรือต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย) หรือการดำเนินการที่นอกเหนือไปจากพันธกิจที่ต้องปฏิบัติตาม (ซึ่งสามารถยกระดับชื่อเสียงขององค์กร)
องค์กรยังสามารถมีความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอื่นๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมหรือความจำเป็นและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งสามารถส่งผลต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น:
a) การรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากปัญหาการรู้หนังสือและอุปสรรคด้านภาษาระหว่างผู้ปฏิบัติงานที่ไม่สามารถทำความเข้าใจขั้นตอนการทำงานในท้องถิ่น
b) การเกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อพื้นที่ขององค์กร
c) การขาดทรัพยากรในการรักษาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ อันเนื่องจากข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ
d) การนำเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลมาใช้ ซึ่งสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศได้
e) การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่สามารถส่งผลต่อความสามารถขององค์กรในการใช้งานอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยน้ำ
สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้วางแผนหรือไม่ได้คาดการณ์ไว้ ที่จำเป็นต้องใช้ขัความสามารถ ทรัพยากร หรือกระบวนการเฉพาะโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันหรือบรรเทาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงหรืออาจเกิดขึ้น
สถานการณ์ฉุกเฉินสามารถทำให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบหรือผลกระทบอื่นๆ ต่อองค์กร
ในการพิจารณากำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น (เช่น ไฟไหม้ การรั่วไหลของสารเคมี สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย) องค์กรควรพิจารณา:
- ลักษณะของสิ่งอันตรายในพื้นที่ (เช่น ของเหลวที่สามารถติดไฟได้ ถังกักเก็บ ก๊าซความดัน)
- ประเภทหรือระดับของสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นไปได้มากที่สุด
- ความเป็นไปได้ของการเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใกล้เคียง (เช่น โรงงาน ถนน ทางรถไฟ)
แม้ว่าจะมีความเสี่ยงและโอกาสที่จำเป็นต้องพิจารณากำหนดและจัดการ แต่ก็ไม่มีข้อกำหนดสำหรับการจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นทางการหรือกระบวนการจัดการความเสี่ยงในรูปแบบลายลักษณ์อักษร ขึ้นอยู่กับองค์กรที่จะเลือกวิธีการที่จะใช้ในการกำหนดความเสี่ยงและโอกาส วิธีการที่เลือกอาจเป็นกระบวนการเชิงคุณภาพอย่างง่ายหรือการประเมินผลเชิงปริมาณโดยสมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับบริบทการดำเนินงานขององค์กร
ความเสี่ยงและโอกาสที่ระบุ (ข้อ 6.1.1 ถึง 6.1.3) คือสิ่งป้อนเข้าสำหรับการดำเนินการวางแผน (ข้อ 6.1.4) และการกำหนดวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม (ข้อ 6.2)